top of page

Master degree journal 01 : ecal





Master degree journal 01 : ecal


สวัสดีครับ สำหรับบทความนี้ผมขอแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่ผมไปเรียนมานะครับ คาดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังมองหาที่เรียนต่อ หรือกำลังเก็บข้อมูลเพื่อตัดสินใจได้ไม่มากก็น้อยครับ




สำหรับมหาวิทยาลัยที่ผมได้ไปเรียนนั้นเรียกกันสั้นๆว่า ecal (เอแกล) ย่อมาจาก Ecole cantonale d'art de Lausanne ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นอังกฤษได้ว่า University of Art and Design Lausanne ต้องขอเกริ่นคร่าวๆก่อนว่าที่สวิสเซอร์แลนด์นั้นจะใช้ภาษาทางการเป็นภาษาเยอรมัน แต่เนื่องจากสวิสเป็นประเทศที่มีชายแดนติดประเทศอื่นถึง 4 ประเทศ (เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี และออสเตรีย) คนท้องถื่นที่อาศัยในเมืองที่ใกล้ประเทศอื่นก็จะพูดภาษาของประเทศนั้น เช่นฝั่งทางตอนใต้ของสวิสที่ติดฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริเวณที่มหาลัยผมตั้งอยู่ ก็จะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก และมักจะไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษเลย ป้ายบอกทางหรือคำอธิบายบนสินค้าต่างๆแม้จะมีหลายภาษาคือเยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส แต่มักไม่มีภาษาอังกฤษเลยเช่นกัน ทำให้ค่อนข้างยากในการใช้ชีวิตช่วงแรกๆหากไม่สามารถพูดหรืออ่านภาษาฝรั่งเศสได้ แต่โชคดีที่ในภาควิชาของผม (ปริญญาโท) มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และมีนักเรียนหลากหลายชาติมาเรียนด้วยกัน ต่างจากปริญญาตรีที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น และนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสหรือสวิส






ที่ ecal นั้นมีหลายภาควิชาที่น่าสนใจโดยส่วนมากจะเน้นไปทางสาย Visual art เช่น Fine art, Graphic design, Photography, Media and interaction design, Film studies, Type design, Art direction ส่วนภาคที่มีความเป็นอุตสาหกรรมหรือเอียงไปทางการออกแบบมากกว่าคือ Industrial design, Product design และ ภาควิชาของผมที่มีชื่อยาวเหยียดว่า Advance studies in design for luxury and craftsmanship ซึ่งจะแตกต่างจากภาคอื่นๆพอสมควร โดยผมจะอธิบายความต่างโดยละเอียดในตอนต่อไป


ตัวมหาวิทยาลัยนั้นเดิมตั้งอยู่ใน Lausanne แต่แบ่งเป็นสองวิทยาเขต ซึ่งมีมาหลายสิบปี ก่อนที่จะย้ายมาที่แห่งใหม่และรวมสองวิทยาเขตไว้ด้วยกันที่เมือง Renens (อ่านประมาณว่า เคอร์นอง) ซึ่งอยู่ถัดจาก Lausanne ไม่ไกลนัก การย้ายครั้งนี้เป็นทั้งการเปลี่ยนสถานที่ และการเปลี่ยนหลักสูตรและทิศทางของโรงเรียน ให้เน้นการออกแบบที่สดใหม่มากขึ้น อาจารย์ที่มาสอนนั้นล้วนเป็นนักออกแบบที่มีประสบการณ์ โดยที่ ecal นั้นจะไม่มีการจ้างอาจารย์เต็มเวลา คืออาจารย์ทุกคนนั้นทำงานเป็นนักออกแบบ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมจริงๆไปด้วยในเวลาเดียวกัน และแต่ละเดือนจะมีนักออกแบบจากหลากหลายประเทศในยุโรปเวียนกันมาให้เลคเชอร์แบ่งปันประสบการณ์ และมาเป็นที่ปรึกษาเฉพาะบางโปรเจ็ค ซึ่งก็แล้วแต่โอกาสว่าจะได้เป็นที่ปรึกษา หรือได้ฟังเลคเชอร์เท่านั้น (ในปีของผมจะมี Ronan Bouroullec, Jay Osgerby, Aldo Bakker, Kim Colin จาก Industrial Facility และ Micheal Anastassiades) ตัวอาคารของมหาลัยนั้นไม่ใหญ่มากนัก เป็นโรงงานเก่าที่นำมาตกแต่งใหม่ จึงมีพื้นที่โล่งกว้าง มีเพดานสูง และหลายๆคลาสเรียนเป็นห้องเรียนแบบเปิด เวลาเดินไปเดินมาในมหาลัยก็จะเห็นงานของภาคอื่นๆวางเรียงรายตามพื้น แปะอยู่บนผนัง หรือจัดแสดงเป็นนิทรรศการทั้งในพื้นที่ห้องเรียน หรือในแกลอรี่ของมหาลัย เมื่อเวลามีการส่งงานก็สามารถเดินเข้าไปฟังพรีเซนต์ได้สบายๆ ข้อดีคือหลายครั้งเราสามารถได้แรงบันดาลใจดีๆจากการคุยกับนักเรียนในภาคอื่น หรือการเห็นงานเหล่านั้น แต่ถ้าเป็นคนที่ตั้งสมาธิทำงานได้ยาก ก็อาจจะลำบากเล็กน้อย เพราะจะมีสิ่งรบกวนค่อนข้างมาก






การเรียนการสอนที่ ecal นั้นเน้นให้นักเรียนลงมือทำเอง โดยตัวมหาลัยก็จะมีเครื่องมือเครื่องจักรและทีมงานคอยช่วยเหลือ ทั้งช๊อปไม้ เหล็ก พลาสติก คอนกรีต เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่อง CNC, laser ซึ่งนักเรียนสามารถผลิตงานที่เหมือนผลิตภัณฑ์จริงๆได้เลย รวมถึง print shop ที่มีเครื่องพิมพ์หลายรูปแบบ (แต่ช่วงใกล้ส่งงานก็อาจจะไม่สามารถพึ่ง staff หรือเครื่องจักรที่มีน้อยๆอย่าง cnc หรือ laser ได้มากนักเพราะทุกคนจะมารุมใช้กันหมด) ข้อดีคือนักเรียนก็จะได้พัฒนาทักษะการทำงานด้วยตนเอง เข้าใจกระบวนการผลิต แล้วก็วางแผนการทำให้ทันต่อเวลา โดยเฉพาะ Master of Product design ที่ทุกคนต้องทำงานจบของตัวเองในช๊อปของ ecal เท่านั้น ไม่ว่าโปรเจ็คจะเป็นเครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว โต๊ะ เก้าอี้ พัดลม หรือ โคมไฟก็ตาม





เพื่อนๆหรือน้องๆท่านใดที่กำลังมองหาที่เรียนต่อ ถ้าเป็นสายกราฟฟิค หรือ industrial design ส่วนตัวผมว่า ecal เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากเพราะนักออกแบบที่มาสอนนั้นหลายท่านมีมุมมองที่น่าสนใจ โดยแต่ละคนก็จะมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน และสดใหม่อยู่เสมอ ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีที่หลากหลายและอาจจะสามารถพัฒนากระบวนการออกแบบของตนเองได้ดีขึ้น facility ต่างๆค่อนข้างพร้อมสำหรับการลงมือทำ ในด้านกราฟฟิคนั้นผมมองว่างานของ ecal จะเน้น visual ที่ค่อนข้างจัดจ้านและมีความเป็น personal ของนักเรียนแต่ละคน แต่หากสนใจทิศทางของงานที่เน้นการทดลองเยอะๆ หรือ conceptual มากๆ อีกที่หนึ่งที่ผมได้ไปดูและคิดว่าน่าสนใจคือ Design Acedemy Eindhoven ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาแชร์เช่นกันครับ : )



 

6 views
bottom of page