top of page

Master degree journal 02 : MasLuxe



Master degree journal 02 : MasLuxe


จากบทความที่แล้วที่ผมได้พูดถึงภาพรวมของมหาวิทยาลัยที่ผมไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ (ecal) โพสนี้ผมขออธิบายถึงภาควิชาที่ผมไปเรียนโดยตรงนะครับ ชื่อภาควิชาเต็มๆนั้นคือ Master of Advance Studies in Design for Luxury and Craftsmanship (MasLuxe อ่านว่า มาซลุกซ์) โดย MasLuxe นั้นใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี ต่างจาก Master Degree อื่นๆที่ต้องใช้เวลา 2 ปี ลักษณะของการเรียนใน MasLuxe นั้นโปรเจ็คจะมีระยะเวลาที่สั้นและมีจำนวนมาก โปรเจ็คหนึ่งๆอาจใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 2 อาทิตย์ ไปจนถึงสองเดือน ขณะที่ Master Degree เช่น Product design โปรเจ็คหนึ่งๆอาจทำกันถึงหกเดือน


การเรียนส่วนใหญ่ใน MasLuxe นั้นคือการทำงานกับแบรนด์และผู้ผลิตในยุโรป คือแทบจะไม่มีการสอนทักษะใดๆเพิ่ม ยกเว้นเพียงการปรับพื้นฐานเล็กน้อยในช่วงเดือนแรก แต่ละโปรเจ็คทางแบรนด์เป็นผู้ให้โจทย์ ซึ่งแต่ละโจทย์ในปีที่ผมเรียนนั้นมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ใหม่เช่นกระเป๋าหรือโคมไฟ งานนิทรรศการ งานจัด window display ไปจนถึงแพคเกจและการโปรโมตสินค้า โดยในตอนท้ายของโปรเจ็คหากงานของนักเรียนคนใดผ่านการคัดเลือกจากแบรนด์ก็จะถูกนำไปผลิตขาย หรือจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ ในมุมมองของผม ข้อดีที่น่าสนใจของภาควิชานี้มีหลายประการ แบ่งเป็นข้อๆได้ดังนี้



1 ให้โอกาสทำงานกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ทำงานยาวนาน ทำให้ผมสามารถเห็นวิธีการทำงาน วิธีการบริการ และทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ แต่ละหมวดสินค้า เปิดโอกาสให้เข้าไปดูในโรงงาน ดูการทำงานของช่วงฝีมืออย่างใกล้ชิด เห็นกรรมวิธีที่หลากหลายไปตามวัสดุ โดยในปีของผมนั้นได้ทำงานกับแบรนด์ดังนี้ Chopard (เครื่องประดับ, นาฬิกาข้อมือ, กระเป๋า), RetroSuperFuture (แว่นตา, แว่นกันแดด) , Christofle (เครื่องเงิน, โคมไฟ), Vacheron Constantin (นาฬิกาข้อมือ), Matteo Gonet (ประติมากรรมจากแก้ว) และ Hotel des Trois Couronnes (โรงแรม)



2 ต่อเนื่องจากข้อแรกคือนอกจากที่ผมได้เห็นบรรยากาศโดยรวมด้วยตัวเองแล้ว ทางแบรนด์มักจะเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของบริษัท รวมไปถึงประวัติ ที่ล้วนแล้วแต่เจอปัญหาใหญ่ๆมากมายด้วยกันทั้งนั้น ทำให้เห็นว่าการที่องค์กรหนึ่งๆจะดำเนินงานต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นทิศทางของการทำงานสำคัญมาก อาศัยการเข้าใจปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อองค์กร และการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพตลาดสำคัญเสมอๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร



3 ดีไซเนอร์ที่มาเป็นโค้ชให้ในแต่ละโปรเจ็คก็มีกระบวนการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีวิธีการให้คอมเมนต์ต่างกัน บ้างให้อิสระและพยายามกระตุ้นให้เกิดอะไรใหม่ๆที่คาดไม่ถึง บ้างมีความชัดเจนและตีกรอบไว้ให้ความคิดถูกสรุปโดยเร็วที่สุด คือผมได้เห็นความหลากหลายทางความคิด ประเด็นนั้นไม่ใช่ว่าเป็นการตัดสินว่าอะไรผิดถูก หากแต่เป็นการเลือกวิธีการที่เหมาะสมของกับตัวเอง และงานที่ทำ



4 การเรียนในภาคนี้ค่อนข้างให้อิสระทางความคิด เน้นการให้นักเรียนแสดงความคิด อัตลักษณ์ ทักษะของตัวเองออกมา ให้พื้นที่ในการทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงหากทำในการทำงานจริง โดยจะเห็นชัดที่สุดคือ โปรเจ็คสุดท้ายของปีเอื้อให้นักเรียนทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ



5 การสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นงานหลักๆของแบรนด์เหล่านี้ ผมได้เห็นว่าการที่แบรนด์สามารถขายนาฬิกาข้อมือเรือนละหลายสิบล้านบาทนั้นอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ยากเย็นที่จะรวบรวมให้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะของช่างฝีมือในการประกอบนาฬิกา ที่ต้องฝึกกันเป็นสิบๆปี กว่าจะทำได้ทั้งเรือน มีการส่งต่อความรู้เพื่อมิให้ทักษะสูญหาย การมีเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนหลายร้อยหลายพันชิ้นในนาฬิกาหนึ่งเรือน ซึ่งต้องมีทั้งความแม่นยำและความสวยงาม แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของนักออกแบบและวิศวกร การเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติองค์กร ข้อมูลลูกค้าเพื่อพัฒนาการบริการเช่นการซ่อมแซม การพัฒนาการทำการตลาดและการขาย ฯลฯ



6 ทุกๆสองเดือนทางมหาลัยจะมีวันหยุดให้ 1 อาทิตย์ ซึ่งเอื้อให้นักเรียนสามารถเดินทางไปดูงาน (เที่ยว) ได้หลายที่ หลายครั้งที่วันหยุดมักจะตรงกับงานแฟร์ศิลปะและงานออกแบบ และการเดินทางไปมาในทวีปยุโรปนั้นค่อนข้างรวดเร็วและสะดวกสบายทั้งรถไฟและเครื่องบิน ทำให้ได้เห็นสิ่ง ใหม่ๆ เป็นการเปิดหูเปิดตาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลกแห่งการออกแบบ


ส่วนตัวผมมองว่าภาควิชานี้นอกจากจะให้โอกาสในการฝึกฝนทักษะการออกแบบแล้ว การที่ได้ไปเห็น ไปดู ไปอยู่ ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้ด้านอื่นๆที่สำคัญเช่นกัน และอีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือเพื่อนร่วมชั้น ในชั้นเรียนของผมนั้นมีทั้งหมด 17 คน ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ คือ ฝรั่งเศส สวิส สเปน อิตาลี เยอรมัน กรีซ เม็กซิโก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และ ไทย (ผมเอง) อายุตั้งแต่ ยี่สิบต้นๆ ไปถึงสามสิบปลายๆ ผมได้เห็นกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันมากๆ รวมไปถึงระบบความคิด ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็เป็นการเปิดโลกให้เห็นว่าไม่ได้มีกระบวนการหรือวิธีการคิดแบบใดที่ดีที่สุด หากแต่แตกต่างกันไปตามบริบท และอยู่ที่การเลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์








 



11 views
bottom of page